ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้
Forest and Climate Change Division

โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม

กรอบการดำเนินงานด้านเรดด์พลัสเป็นแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า การทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงบทบาทของการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา
( Reducing Emission from deforestation and forest Degradation and the role of conservation, sustainable management of forest and enhancement of forest carbon stocks in developing countries) เป็นกรอบแนวทางภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อการรักษาและจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของโลก เนื่องจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมนั้น ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยภาคป่าไม้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 – 20 ของการปล่อยก๊าซฯ ในทุกภาคส่วน ดังนั้น หากสามารถรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการในเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อลดอุณหภูมิโลก และภาคป่าไม้เป็นภาคที่มีความสำคัญในการเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนของประเทศและของโลก ตลอดจนแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ปี พ.ศ.2559 – 2593 ได้กำหนดเป้าหมายในการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศเป็นร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งนโยบายนี้ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และ 12 ด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายและแผนดังกล่าวข้างต้น รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งฐานทรัพยากรป่าไม้เพื่อเป็นสินทรัพย์ในการพัฒนาประเทศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้จัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องบทบาทของป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่และมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมในการดำเนินเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ด้วยการลดการไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม และช่วยในการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าด้วยการอนุรักษ์ป่าไม้ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ด้วยการปลูกเสริมต้นไม้ในป่าเสื่อมโทรม ปลูกป่าในพื้นที่ ที่ถูกทำลายหรือพื้นที่ว่าง และปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2557 และเนื่องจากการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคนและการใช้ประโยชน์ที่ดินของป่าไม้ จะต้องใช้เวลาในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องขอสนับสนุนงบประมาณประจำปี เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสามารถขยายผลไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกแห่งของประเทศไทย

 

เชิงปริมาณ :

  • จำนวนชุมชน/หมู่บ้านที่ร่วมในการอนุรักษ์ จัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และฟื้นฟูทรัพยากร ป่าไม้ เพื่อลดการปล่อยและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า อย่างน้อย 20 ชุมชน
  • จำนวนเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการอนุรักษ์ จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่ป่าและหรือเพิ่มจำนวนต้นไม้เพื่อลดการปล่อยและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ อย่างน้อย 300 คน
  • มีศูนย์หรือหน่วยขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ระดับพื้นที่ อย่างน้อย 5 ศูนย์
  • เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความสำคัญของป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งด้านการป้องกันและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวนอย่างน้อย ร้อยละ 50

เชิงคุณภาพ :

  • ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทของป่าไม้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร้อยละ 70
  • ชุมชนนำความรู้ความเข้าใจไปใช้ในการปฏิบัติและดำเนินการในเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่ป่าหรือปลูกไม้ป่า รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ที่เกิดความยั่งยืนขึ้น ร้อยละ 10 ของจำนวนชุมชนในข้อ 1
  • อัตราการทำลายป่าในระดับพื้นที่ที่ดำเนินการลดลงและ/หรือไม่มี และพื้นที่ป่ามีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้น
  • การประเมินการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีการยกระดับจาก Tier 1 ไปสู่ Tier 2 และ 3
  1. เพื่อเตรียมความพร้อม เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้จากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในรูปแบบต่างๆ
  2. เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้และเรดด์พลัสในระดับพื้นที่ระดับชุมชน และท้องถิ่นในการดำเนินการและการถ่ายทอดความรู้ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้จากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในรูปแบบต่างๆ
  3. เพื่อศึกษา และพัฒนารูปแบบ มาตรการหรือแนวทาง  เพื่อการพัฒนาวิชาการ  และ   การดำเนินงานด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ รวมถึงการดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานหรือขอบข่ายงานด้านเรดด์พลัสของประเทศไทยในอนาคต โดยเริ่มจากระดับล่างสู่บน
  1. เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่และติดแนวเขตพื้นที่คุ้มครองเพื่อร่วมกันในการหยุดการตัดไม้ทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในรูปแบบต่างๆ                 รวมถึงการปลูกต้นไม้ป่าเพิ่ม
  1. เพื่อจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นหน่วยงานปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนามที่ประสานการปฏิบัติงานกับทุกภาคส่วน    โดยเฉพาะภาคประชาชนอย่างบูรณาการ และเพื่อการประสานการดำเนินงาน การสาธิต การจัดการป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานการดำรงชีวิตที่ดีของชุมชน   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้
  1. เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบการสำรวจและประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าของประเทศที่ได้มาตรฐานและยกระดับค่าความเชื่อมั่นในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ รวมถึงการพัฒนาสมการและสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้
  1. เพื่อศึกษาและพัฒนาดัชนีบ่งชี้ รวมถึงแนวทางการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศป่าไม้และการเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์และประเภทป่าในอนาคต เพื่อรองรับการป้องกันและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  1. เพื่อนำเสนอรูปแบบการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนในพื้นที่ป่า รูปแบบของแรงจูงใจและการตอบแทน และผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมของการบริการของระบบนิเวศที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และสนับสนุนการดำเนินการตามพันธกรณีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

 

   

 

พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพื้นที่ป่าติดแนวเขตป่าอนุรักษ์

  1. เจ้าหน้าที่หน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  2. เจ้าหน้าที่หน่วยงานภายนอก
  3. ภาคประชาสังคม
  4. ภาคประชาชนและชุมชนที่พึ่งพิงป่า
  5. ภาคเอกชน

ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม คือ

  1. กิจกรรมเตรียมความพร้อมเสริมความแข็งแกร่งและพัฒนาเทคนิคการดำเนินกิจกรรมกลไกเรดด์พลัส
  2. กิจกรรมนำร่องเพื่อพัฒนาชุมชนในพื้นที่คุ้มครองในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนและเพิ่มพื้นที่ป่าในการกักเก็บคาร์บอนด้วยกลไกเรดด์พลัส
  3. กิจกรรมสำรวจ ศึกษา และประเมินการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า
  1. ทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจ มีความพร้อมและร่วมดำเนินการในการดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้
  2. ทุกภาคส่วนมีความตระหนักและเกิดจิตสำนึกในบทบาทความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอน
  3. ชุมชนเข้าร่วมในกิจกรรมการกักเก็บคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ว่าง ตามแนบขอบแปลง หรือปลูกผสมผสานในพื้นที่เกษตรกรรม และร่วมในการป้องกันรักษาป่าเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บคาร์บอน
  4. มีศูนย์ขับเคลื่อนและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้ และกรอบงานด้าน เรดด์พลัสระดับพื้นที่
  5. มีมาตรการ แนวทาง และเทคนิคในการพัฒนากรอบการดำเนินงานด้านเรดด์พลัสที่ชัดเจน มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน
  6. ได้ชุมชนต้นแบบในการพัฒนากรอบการดำเนินงานด้านเรดด์พลัส เพื่อขยายผลจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศ จำนวน 4 แห่งต่อปี
  7. มีข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ ปริมาณ และความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของป่าในประเทศ
  8. ได้ค่าประมาณการการกักเก็บคาร์บอนในป่าแต่ละประเภทที่กระจายในแต่ละภูมิภาค
  9. ชุมชนสามารถปรับตัวและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี
  1. อัตราการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมลดลงหรือไม่มี และสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น
  2. เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนจากการเพิ่มพื้นที่ป่าและเพิ่มจำนวนต้นไม้ป่าที่ได้ปลูกในพื้นที่ต่างๆ
  3. เกิดเครือข่ายอาสาสมัครด้านเรดด์พลัสในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นกลุ่มเครือข่ายการสื่อสารและร่วมดำเนินการในเรื่องของการลดการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงมีบทบาทในการช่วยในการถ่ายทอดความรู้และวิธีการดำเนินการไปสู่กลุ่มบุคคลและชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
  4. ชุมชนมีความตระหนักและให้ความร่วมมือในการพัฒนาและดำเนินการเพื่อลดการทำลายป่า การทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงบทบาทการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ต่างๆ
  5. มีระบบมาตรฐานในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนของป่าแต่ละชนิด และมีการยกระดับการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ของประเทศ
  6. ส่งเสริมและรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ เพื่อการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  7. มีศูนย์กลางในการประสานการดำเนินงานและสื่อสารความรู้และข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้
Forest and Climate Change Division
magnifiercross linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram