ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้
Forest and Climate Change Division

โครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย

โครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย

(Thailand’s REDD+ Readiness Preparation Proposal : R-PP)

 

งบประมาณสนับสนุน: กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility : FCPF)
Grant No :   TF 0A0984
วันที่ลงนามรับทุน : 17 มิถุนายน 2559
หน่วยงานที่ลงนามรับความช่วยเหลือ  สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
หน่วยงานดำเนินการ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลาดำเนินการ: 2559 – 2562 (2016 – 2019)  

ปี พ.ศ. 2552 ประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามเป็นสมาชิกของกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( Forest Carbon Partnership Facility : FCPF) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2551 โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น นอร์เวย์ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกองทุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาได้เตรียมความพร้อมและเสริมศักยภาพเพื่อการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสหรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้แบบสมัครใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันในการประชุมรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 11 (ปี พ.ศ. 2548) สมัยที่ 13 (ปี พ.ศ. 2550) และสมัยที่ 14 (ปี พ.ศ. 2551) โดยในการประชุมฯ สมัยที่ 16 (ปี พ.ศ.2552) ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานด้านเรดด์พลัสไว้ 5 กรอบงาน ได้แก่ 1) การหยุดยั้งการทำลายป่า 2) การลดความเสื่อมโทรมของป่า 3) เพิ่มการอนุรักษ์ป่า 4) การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และ 5) เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า และได้กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส ประกอบด้วย

  • การจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงาน
  • การจัดทำระดับอ้างอิงหรือระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้
  • การจัดทำระบบการตรวจวัด การรายงาน และการพิสูจน์ยืนยัน รวมถึงระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นมาตรฐาน
  • ระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ( Safeguards)

และกำหนดให้การดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสมี 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะเตรียมความพร้อมในการดำเนินการ 2) ระยะการทดลองนำร่อง 3) ระยะการดำเนินการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ และในการประชุมสมัยต่อมามีการพัฒนามาตรการ รูปแบบ และกระบวนการเพื่อเป็นแนวทางและใช้ประกอบการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ แสดงถึงความโปร่งใสให้ประเทศพัฒนาแล้วในการสนับสนุนทางการเงิน หรือการเกิดคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินงาน

  1. เพื่อเสริมศักยภาพและสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสของประเทศไทย
  2. เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติเพื่อเป็นกรอบการดำเนินการของประเทศไทย
  3.  เพื่อพัฒนาระดับการอ้างอิง/ระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้ และระบบการตรวจติดตาม การรายงานและการพิสูจน์ยืนยัน ความสำเร็จของการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส
  4. เพื่อพัฒนาระบบการปกป้องผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการดำเนินงานตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส

รายละเอียดการดำเนินการ

การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ตามรายละเอียดในข้อตกลงการรับทุน ประกอบด้วย

ตารางที่ 1 กิจกรรมการดำเนินการ

 

ที่ องค์ประกอบที่ กิจกรรมการดำเนินการ งบประมาณ(เหรียญสหรัฐ)
FCPF
(in cash)
รัฐบาล
(in kind)
1.  การจัดการเตรียมความพร้อมในระดับประเทศ และกระบวนการปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วม -การจัดตั้งคณะทำงานทางวิชาการต่างๆ เช่น ด้านการจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัส ด้านการจัดทำระดับการปล่อยอ้างอิง/ระดับอ้างอิง และระบบการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (MRV) ระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ( Safeguards) ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ กลไกการร้องทุกข์-การสนับสนุนทางวิชาการ และการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ

-การจัดตั้งและดำเนินการเกี่ยวกับสำนักงานเรดด์พลัสระดับประเทศและภูมิภาค

-การจัดทำยุทธศาสตร์การสื่อสารและประชาสัมพันธ์

-กระบวนการปรึกษาหารือกะชัยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินการงานร่วมนของเครือข่ายภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น เยาวชน และคณะทำงานอื่นๆ

-การสื่อสารเผยแพร่ในเรื่องของการประเมินยุทธศาสตร์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และกรอบการดำเนินการในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม

2. การจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติ -ทบทวนและจัดลำดับปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยกระบวนการปรึกษาหารือและวิเคราะห์จากสถานการณ์และอื่นๆ-การวิเคราะห์องค์กร นโยบาย แผน กฎหมายในการดำเนินการจัดการพื้นที่ป่าของประเทศ

-การประเมินธรรมาภิบาลและความเที่ยงธรรมในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และการใช้ประโยชน์และสิทธิในที่ดินของประเทศ

-จัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัส ซึ่งรวมถึงการกำหนดรูปแบบองค์กร สถาบันการดำเนินการ กฎหมาย นโยบาย การวิเคราะห์ความเสี่ยง ความเป็นไปได้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

-ศึกษา วิเคราะห์กรอบแนวทางการแบ่งปันผลประโยชน์

-การประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ และการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์การจัดการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินกิจกรรมเรดด์พลัส

-การออกแบบข้อมูลระบบปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม

( Safeguards Information System : SIS)

 3. การตรวจติดตามทรัพยากรป่าไม้และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก – การพัฒนาระดับการอ้างอิง/ระดับการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้-การพัฒนาระบบการตรวจวัด การรายงาน และการพิสูจน์ยืนยัน

-การให้การสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาโมเดลสำหรับการประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการออกแบบสำหรับระบบการสำรวจติดตามและจัดทำบัญชีทรัพยากรป่าไม้

-การจัดให้มีการฝึกอบรมแก่ข้าราชการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการตรวจวัด การรายงาน และการพิสูจน์ยืนยัน

4. การจัดการโครงการ และกรอบการติดตามและประเมินโครงการฯ -การบริการ การตรวจติดตาม และการประเมินโครงการ  การเงิน การซื้อการจ้าง การประสานในการดำเนินงาน การรายงานการดำเนินการของโครงการฯ
รวมงบประมาณทั้งโครงการ  4 ปี 3,600,000 380,000

1.งบสนับสนุนแบบให้เปล่า จำนวน 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวงเงินดังกล่าวโดยกองทุน FCPF กำหนดให้ใช้เงินอย่างน้อย 200,000 เหรียญในการจัดทำระบบปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลไกการร้องทุกข์

2.งบประมาณสมทบที่ไม่ใช่รูปแบบตัวเงิน (In kind) ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ บุคลาการ สถานที่ดำเนินการ และอุปกรณ์ วงเงินประมาณ 380,000 เหรียญสหรัฐ

          รวมเป็นเงิน 3.98 ล้านเหรียญสหรัฐ
          เป็นเงินทุน 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
รัฐบาลสมทบในรูปของ in kind จำนวน 380,000 เหรียญสหรัฐ

ประเทศไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานหลักของกิจกรรมเรดด์พลัสหรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ และประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นสมาชิกกองทุน FCPF เมื่อปี พ.ศ. 2552 จึงได้จัดทำบันทึกแนวคิด แผนการเตรียมความพร้อมของกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Plan Idea Notes : R-PIN ) เสนอกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 200,000 เหรียญสหรัฐ   เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส หรือการดำเนินการในระยะที่ 1   การเตรียมความพร้อมในการดำเนินกลไกเรดด์พลัสของประทศในประเด็นของการเตรียมคน การเตรียมโครงสร้างองค์กร การจัดทำยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติ การจัดทำระบบการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ระบบการตรวจติดตามทรัพยากรป่าไม้ การจัดทำระดับการปล่อยอ้างอิง/ระดับอ้างอิงภาคป่าไม้ และมาตรการอื่นๆที่ได้มีการกำหนดไว้ในข้อตัดสินใจของการประชุมประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คณะกรรมการบริหารกองทุน FCPF (ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอย่างละเท่ากัน ) ได้พิจารณาสนับสนุนงบประมาณจำนวนดังกล่าวให้ประเทศไทยดำเนินการผ่านทางธนาคารโลกซึ่งเป็นผู้ดูแลกองทุนให้ ธนาคารโลกได้ว่าจ้างที่ปรึกษาในประเทศ(คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศในการดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ซึ่งกระบวนการในการดำเนินการเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ที่ปรึกษาได้ใช้การทบทวนและวิเคราะห์นโยบาย แผนพัฒนา กฎหมาย ระเบียบและโครงสร้างของการดำเนินการด้านป่าไม้ของประเทศไทย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ ทั้งในรูปแบบของการประชุมกลุ่มย่อย การประชุมการฟังความคิดเห็นภาพรวม และได้นำประเด็นต่างๆที่ได้มาจัดทำเป็นข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสที่ประกอบด้วยกิจกรรมและงบประมาณในการดำเนินการในวงเงิน 21.7 ล้านเหรียญ ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2558 -2561) (เอกสารข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556) เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำเสนอให้คณะทำงานเฉพาะกิจเรดด์พลัสและคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านวิชาการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ และเมื่อปรับแก้ไขตามความเห็นแล้ว ได้นำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานรับทราบการดำเนินการในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 และจัดส่งให้กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้พิจารณา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน FCPF สมัยการประชุมที่ 14 ในเดือนมีนาคม 2556 ได้เห็นชอบสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่ประเทศไทยในการดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อม (R –PP) โดยให้มีการจัดประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ความเห็นที่ตกหล่น ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดประชุมหารือใหม่ในแต่ละภาคและส่วนกลางจำนวน 5 ครั้ง และนำความเห็นในส่วนที่ขาดมาเพิ่มในข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสดังกล่าว ต่อมาธนาคารโลกได้มีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2557 แจ้งการเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ต่อข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฉบับแก้ไข (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2556) และจะประสานในการจัดทำรายละเอียดประกอบการรับทุนต่อไป และเอกสารฉบับนี้ได้เผยแพร่ไว้ในเว๊ปไซด์ของธนาคารโลกและเว๊ปไซด์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (http//reddplus.dnp.go.th)

ในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2558 ธนาคารโลกได้ดำเนินการประเมินความเป็นไปได้หรือความเสี่ยงของประเทศไทยในการดำเนินโครงการดังกล่าว และได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการจัดทำแผนการดำเนินการและแผนการจัดซื้อจัดหา การจัดทำข้อกำหนดการจ้างที่ปรึกษาในการดำเนินการ การให้ความรู้ในเรื่องระบบการเงินและการเบิกจ่ายของธนาคารโลก และการจัดทำรายละเอียดเพื่อประกอบการลงนามในสัญญารับทุน ธนาคารโลกได้มีหนังสือที่ 447/2015 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ถึงสำนักบริหารหนี้สาธารณะแจ้งการอนุมัติการให้ทุนให้แก่ประเทศไทยในการดำเนินกิจกรรมเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Preparation Activities) และประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังได้ลงนามรับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 และเป็นการเริ่มการดำเนินโครงการของประเทศไทย

  1. ความรู้ความเข้าใจและความพร้อมของบุคลากรและภาคส่วนต่างๆในการดำเนินกิจกรรมตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสและการลดการปล่อย/การเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า
  2. ยุทธศาสตร์เรดด์พลัสของประเทศ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการและจัดทำแผนการปฏิบัติงานต่อไป
  3. ดัชนีชี้วัดหรือเกณฑ์ในการประเมินผลความสำเร็จของการจัดการป่าไม้เพื่อลด/กักเก็บคาร์บอน
  4. ระบบการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้ที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ
  5. ระบบปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหากมีการดำเนินกิจกรรมตามกรอบงานด้านเรดด์พลัส ตามข้อกำหนดของข้อตัดสินใจภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  6. กรอบการพัฒนาโครงสร้างหรือสถาบันเพื่อการดำเนินกิจกรรมตามกรอบงานด้านเรดด์พลัสของประเทศ
  7. กรอบแนวคิดในการพัฒนาระบบการแบ่งปันผลประโยชน์และการติดตามตรวจสอบหรือดัชนีชี้วัดผลประโยชน์ที่ไม่ใช่คาร์บอน   (จะต้องมีการหางบประมาณมาพัฒนาต่อยอดต่อไป เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอ)

  1. มีเครื่องมือที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาประเทศในการประเมินว่า การบริหารจัดการป่าไม้ของประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการรักษาพื้นที่ป่า และใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศอีกด้วย
  2. มีระบบการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศที่ได้มาตรฐาน มีรูปแบบและกระบวนการในการดำเนินการที่ชัดเจน และสามารถวิเคราะห์รายงานผลได้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  3. เป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบและความสนใจของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโต และความตกลงปารีส ในการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า การทำให้ป่าเสื่อมโทรม และเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ปา การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่า
  4. หากมีการดำเนินการได้ตามกรอบยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆที่ได้มีการจัดทำขึ้น โอกาสในการที่พื้นที่ป่าจะเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนและก่อให้เกิดคาร์บอนเครดิตให้แก่ประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ รวมถึงเป็นข้อต่อรองในการเจรจาในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อตกลงหรือในอนุสัญญาอื่นๆ
  5. การรับทุนเพื่อดำเนินโครงการฯ ทำให้สามารถพัฒนาศักยภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นประเทศที่มีป่าเขตร้อน ทำให้เกิดช่องทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนได้

การดำเนินการเกี่ยวกับข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (Readiness Preparation Proposal : R-PP) งบประมาณกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility : FCPF)

 

ปี 2552

  • ปี พ.ศ. 2552

    ประเทศไทยลงนามในการจัดทำบันทึกแนวคิด แผนการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Plan Idea Note : R-PIN) ของกองทุน FCPF

  • 9 ก.พ. 2552

    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้ส่ง R-PIN เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุน FCPF ในการดำเนินงาน REDD+ ในประเทศไทย

  • 27 พ.ย.2552

    ทส. ได้เห็นชอบให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ (อส.) ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติและรับผิดชอบการรับความช่วยเหลือตามข้อตกลงร่วมโครงการ R-PIN เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเพื่อลดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จากกองทุน FCPF เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงกับธนาคารโลกผู้ดูแลกองทุน FCPF เพื่อขอรับงบประมาณจากกองทุน FCPF โดยยึดถือหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 (ตามหนังสือ ทส.ด่วนที่สุดที่ ทส. 0204.2/5612 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552)

ปี 2553

  • 12 เม.ย.2553

    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือที่ ทส 0907.3/7004 ลงวันที่ 12 เมษายน 2553 รายงานการลงนามในข้อตกลง REDD Country Participation Arrangement เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และส่งข้อตกลงดังกล่าวให้กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกทราบ

  • 2 ส.ค.2553

    ธนาคารโลกมีหนังสือที่ 648/2010 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2553 แจ้งให้ ทส. ทราบว่าคณะกรรมการกองทุน FCPF พิจารณาสนับสนุนประเทศไทยจำนวน 200,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ( Readiness Preparation Proposal : R-PP)

ปี 2554

  • 9 มี.ค.2554

    อส. ได้ส่งแบบตอบรับ ( Grant Application Form) พร้อมทั้งแจ้งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะทราบเพื่อดำเนินการขอรับเงินในนามของประเทศไทย ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ 0907.3/4130 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2554

  • 3 ต.ค. 2554

    อส.มอบให้สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ร่วมหารือเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก เพื่อเร่งกระบวนการดำเนินงาน เนื่องจากการดำเนินงานเตรียมการของประทศไทยมีความล่าช้ากว่าประเทศอื่น ดังนั้น อส. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 0907.3/17026 ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 แจ้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เห็นควรให้ธนาคารโลก สำนักงานกรุงเทพฯ เป็นหน่วยงานเบิกจ่ายเงินในการจัดทำ R-PP

  • 21 ต.ค.2554

    เจ้าหน้าที่ธนาคารโลก สำนักงานกรุงเทพฯ ได้ประสานงานยืนยันว่าได้รับการแจ้งให้เป็นหน่วยเบิกจ่ายจำนวน 200,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ แล้วตามหนังสือสำนักบริหารหนี้สาธารณะที่ 0905/3648 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2554

  • 30 ธ.ค.2554

    อส. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อกำหนดการจ้าง ( Terms of Reference : TOR) การจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ( R-PP) (คำสั่งที่ 1716/2554 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2554)

ปี 2555

ปี 2556

  • ม.ค. – ก.พ.2556

    ทีมผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก พิจารณาข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย และได้ส่งข้อเสนอแนะ และความเห็นของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการฯ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช แก้ไขและนำส่งคืนข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมที่ได้แก้ไขแล้วให้ทีมผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้สามารถนำ R-PP ของปรเทศไทยเข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการกองทุน FCPF ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 -22 มีนาคม 2556 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

  • 1 มีนาคม 2556

    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหนังสือ No. 0907/520 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2556 ส่งร่างข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสสำหรับประเทศไทย ฉบับที่แก้ไขครั้งสุดท้ายให้ธนาคารโลก เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ครั้งที่ 14 (PC 14) ในวันที่ 20 มีนาคม 2556

  • 20 มีนาคม 2556

    1.-ที่ประชุมคณะกรมการกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ครั้งที่ 14 ได้มีมติเห็นชอบให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในการดำเนินโครงการฯ โดยขอให้

    1) ประเทศไทยปรับปรุง R-PP ตามประเด็นหลักที่ระบุไว้ในภาคผนวก และนำเสนอ R-PP  ที่แก้ไขแล้วให้แก่ทีมผู้บริหารกองทุน ( The Facility Management Team : FMT)

    2) ให้ FMT ตรวจสอบความสมบูรณ์ของ R-PP และนำขึ้นเว็ปไซด์ของ FCPF และแจ้งให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทราบ

    3) ให้ธนาคารโลก ในฐานะพันธมิตรในการดำเนินงาน  (Delivery Partner) ทำการพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นและปฏิบัติร่วมกับประเทศไทยในกระบวนการลงนามในข้อตกลงหรือสัญญาการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามมติที่ประชุม PC/3/2009/4 และ PC/Electronic/2012/1

    4) ประเทศไทยจะต้องพิจารณาถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ประเมิน R-PP แจ้งข้อคิดเห็นไว้ รวมถึงประเด็นในที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ( FCPF-PC) ในช่วงการเตรียมความพร้อม

    5) ประเทศไทยจะต้องรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานให้ PC ทราบตามข้อ 6.3 (b) ของกฎการจัดตั้ง FCPF และดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาให้ความช่วยเหลือ

    6) ให้ปรับปรุงหรือเพิ่มเติม R-PP ตามข้อเสนอแนะ ที่ระบุไว้ในภาคผนวกของมติที่ประชุมจำนวน 5 ข้อได้แก่

    6.1) ให้มีการจัดประชุมสุนทรียสนทนา ( dialogues) ในระดับภาคและประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้มีการนำมาพิจารณาในการปรับปรุง R-PP รวมถึงการจัดสรรงบประมาณให้เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ในการช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่กลุ่มประเทศที่เครือข่ายและกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวเป็นตัวแทนอยู่

    6.2) ดำเนินการปรับปรุง R-PP ในเรื่องต่อไปนี้

            6.2.1 ) ให้มีการระบุใน R-PP ว่า การเข้ามามีส่วนร่วม และการคัดเลือกผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะทำงานด้านวิชาการ หรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกหรือเลือกสรรด้วยตนเอง

        6.2.2) ให้ระบุรายละเอียดมากขึ้นในเรื่องของวิธีการของกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง

           6.2.3) ให้มีการอธิบายใน R-PP ให้ชัดขึ้นว่า ในการศึกษาเชิงวิเคราะห์ที่จะมีการดำเนินการในช่วงของการเตรียมความพร้อมจะมีการกล่าวถึงประเด็นปัญหาในเรื่องกรรมสิทธิที่ดิน และบทบาทของหญิงชายในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

          6.2.4) ให้มีการอธิบายว่า คณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัสระดับชาติ จะมีการประสานและร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในกระบวนการของ REDD-Plus อย่างไร

    2.-ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ครั้งที่ 14 ได้มีมติกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการในเรื่องการนำเสนอข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ตามมติที่ประชุม PC/14/2013/2 ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ประเทศที่ได้รับอนุมัติสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส จากที่ประชุม PC 14 และก่อนนั้นจะต้องดำเนินการดังนี้ 1) ต้องส่งหนังสือเพื่อแจ้งผู้บริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ถึงกำหนดวันที่ประเทศไทย (1) จัดส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฉบับแก้ไข (2) การลงนามในข้อตกลงการรับทุน โดยจะต้องส่งหนังสือแจ้ง ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งการส่งหนังสือแจ้งกำหนดวันดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ครั้งที่ 15 (เดือนมิถุนายน 2556) ใช้ใน การยืนยันการตัดสินใจที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณให้แก่ประเทศไทยในการ2)ดำเนินการตาม R-PP ต่อไปหรือสมควรจะนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ 2) ประเทศที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดดฺพลัสในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ครั้งที่ 14 จะต้องจัดส่ง R-PP ฉบับแก้ไขภายในเดือนธันวาคม 2556 ประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการตามข้อกำหนดเวลาดังกล่าว จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ แต่การตัดสินใจในเรื่องการไม่สนับสนุนงบประมาณนี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีการพิจารณาบนพื้นฐานของสถานการณ์และความจำเป็นประกอบด้วย 3) ขอให้ประเทศที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ในการประชุมครั้งที่ 14 และก่อนนั้น ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น และต้องดำเนินการลงนามในข้อตกลงการรับทุนภายในเดือนพฤษภาคม 2557 ประเทศที่ไม่สามารถดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้จะไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ แต่การตัดสินใจในเรื่องการไม่สนับสนุนงบประมาณการนี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จะมีการพิจารณาบนพื้นฐานของสถานการณ์และความจำเป็นประกอบด้วย

  • 19 เมษายน 2556

    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหนังสือที่ ทส 0907.5/7246 ลงวันที่ 19 เมษายน 2556 รายงานผลการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 3.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ครั้งที่ 14 ให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบ และขอความเห็นชอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชดำเนินการประสานแหล่งทุน เพื่อใช้ในการจัดประชุมสุนทรียสนทนาและแก้ไขร่างข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมฯ เพื่อนำส่ง R-PP ฉบับแก้ไขให้คณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ภายในเดือนธันวาคม 2556 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ประสานแหล่งทุน

  • 29 เมษายน 2556

    กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำเรื่องการดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฯ แจ้งให้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ ทราบในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2556 วันที่ 29 เมษายน 2556

  • 29 พฤษภาคม 2556

    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือ No.0907/1306 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ถึงคณะกรรมการกองทุน FCPF เพื่อยืนยันการส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และจะดำเนินการลงนามในสัญญาการรับทุนภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2557

  • กรกฎาคม-กันยายน 2556

    กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดการประชุมสุนทรียสนทนา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ ครั้งที่ 14 ในระดับภาค 4 ครั้งและระดับประเทศ 1 ครั้ง ดังนี้

    1) ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2556 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

    2) ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 17 – 18 กรกฎาคม 2556 ณ จังหวัดเชียงใหม่

    3) ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2556 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

    4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 29 – 30 กรกฎาคม 2556 ณ. จังหวัดสุราษฎร์ธานี

    5) ระดับประเทศ วันที่ 5 กันยายน 2556 ณ กรุงเทพมหานคร

    มีผู้เข้าร่วมประชุมจะเป็นบุคคลภายนอกของกลุ่มภาคประชาสังคม สถาบันต่างๆ และชุมชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินการจาก The Swiss Agency for Development and Cooperation : SDC ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการต่างประเทศของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยผ่านศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (RECOFTC)

  • 31 ตุลาคม 2556

    สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้ปรับปรุงข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสตามข้อคิดเห็นจากที่ประชุมสุนทรียสนทนาระดับประเทศตามความเหมาะสมและข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว และได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านเรดด์พลัส พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 2/2556 วันที่ 31 ตุลาคม 2556 และได้ปรับแก้ไขตามมติที่ประชุม

  • 18 พฤศจิกายน 2556

    กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีหนังสือที่ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0907.5/22162 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 แจ้งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเอกสารข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (R-PP) ให้คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านวิชาการ ทราบและพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการฯ ไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ปี 2557

  • 7 มกราคม 2557

    กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ทส 0907.5/272 ลงวันที่ 7 มกราคม 2557  เรียนปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อโปรดพิจารณาเห็นชอบและลงนามในร่างหนังสือถึงธนาคารโลก เพื่อส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฉบับปรับปรุงแก้ไขสุดท้ายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณา

  • 31 มกราคม 2557

    กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือที่ No.0204.2/219 ลงวันที่ 31 มกราคม 2557 ส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฉบับที่ได้แก้ไขปรับปรุงตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทราบและพิจารณา

  • 28 เมษายน 2557

    ธนาคารโลก ได้มีหนังสือลงวันที่ 28 เมษายน 2557 แจ้งว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้ทบทวนการแก้ไขและเห็นว่าได้ดำเนินการเพิ่มเติมและแก้ไขตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนแล้ว จึงเห็นชอบข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส(ฉบับปรับปรุงสุดท้ายลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556)ซึ่งธนาคารโลกจะประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในการประเมินทางเทคนิคและความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส

  • 6 มิถุนายน 2557

    กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้มีหนังสือส่งข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสฉบับสุดท้ายที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เห็นชอบให้คณะกรรมการ คณะทำงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบ และลงไว้ในเว็ปต์ไซด์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อประชาสัมพันธ์

  • 26 – 29 สิงหาคม2557

    กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ร่วมหารือกับธนาคารโลกในเรื่องของการจัดเตรียมในเรื่องของการจัดทำรายละเอียดในการจัดทำเอกสารประกอบการทำสัญญารับทุน รวมถึงได้หารือในประเด็นของ • การประเมินความเสี่ยงและความพร้อมของการดำเนินโครงการเรดด์พลัสของประเทศไทย • การจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นของกิจกรรมที่จะดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ • โครงสร้าง บุคลากร ที่ปรึกษา รูปแบบและวิธีการในการดำเนินการ • การบริหารการเงินและการจัดหา • การจัดเตรียมข้อกำหนดการจ้างในเรื่องของการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการจัดทำกรอบการดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • 2 ตุลาคม 2557

    ธนาคารโลกมีหนังสือที่ 508/2014 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ประสานในเรื่องของการนำกิจกรรมที่จะดำเนินการในระยะการเตรียมความพร้อมที่ระบุไว้ใน Assessment Note เสนอให้คณะทำงานเฉพาะกิจเรดด์พลัสพิจารณา

  • 13 ตุลาคม 2557

    สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช ได้นำรายละเอียดกิจกรรมและวิธีการดำเนินการตามที่ได้หารือกับธนาคารโลกเสนอให้คณะทำงานเฉพาะกิจเรดด์พลัสพิจารณาให้ข้อคิดเห็น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในกิจกรรมและงบประมาณที่ได้มีการจัดสรรใหม่ให้เหมาะสมกับงบประมาณจำนวน 3.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ที่เน้นในเรื่องของยุทธศาสตร์เรดด์พลัสแห่งชาติ มาตรการปกป้องผลกระทบต่อสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การออกแบบระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ การจัดทำเส้นฐานอ้างอิง/เส้นฐานการปล่อยอ้างอิงภาคป่าไม้ ระบบการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการบริหารโครงการด้านบุคลากรและการเงิน

  • 31 ตุลาคม 2557

    ธนาคารโลกมีหนังสือ No.547/2014 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2557 แจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทราบว่า คณะเจ้าหน้าที่ธนาคารโลกและผู้เชี่ยวชาญการจัดทำระบบการติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้และการจัดทำเส้นฐานอ้างอิงจะขอเข้าประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(มหาชน) เพื่อหารือเกี่ยวกับเร่องดังกล่าว เพื่อสนับสนุนในการดำเนินการด้านกลไกเรดด์พลัสในระหว่างวันที่ 3 – 14 พฤศจิกายน 2557 ณ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในระหว่างเวลาดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกเข้าร่วมประชุมหารือและได้มีการเข้าพื้นที่เพื่อดูระบบการสำรวจและติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ และการสำรวจประเมินคาร์บอนสต๊อกที่ดำเนินการโดยสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช

  • 10 พฤศจิกายน 2557

    กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีหนังสือที่ No.0907.5/22442 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 แจ้งมติที่ประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเรดด์พลัสให้ธนาคารโลกทราบ

  • 27 พฤศจิกายน 2557

    ธนาคารโลกมีหนังสือ No.595/2014 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง Technical Support Mission on REDD+ Monitoring System and Reference Emission Level ในระหว่างวันที่ 3 -14 พฤศจิกายน 2557 ส่งข้อสรุปและข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยให้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ทราบเพื่อประกอบการดำเนินการต่อไปเมื่อมีการดำเนินการตามข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัสของประเทศไทย

ปี 2558

  • 26 มกราคม 2558

    ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมฝึกอบรมในเรื่อง นโยบายและแนวทางการจัดการด้านการเงิน และขั้นตอนการจัดทำรายงานในระบบตรวจสอบบัญชีของธนาคารโลก เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการตาม R-PP

ปี 2559 – ปัจจุบัน

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคป่าไม้
Forest and Climate Change Division
magnifiercross linkedin facebook pinterest youtube rss twitter instagram facebook-blank rss-blank linkedin-blank pinterest youtube twitter instagram